top of page

ตัวใหญ่ล้มดัง ยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลี Hanjin ล้มละลาย


ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ข่าวที่สะเทือนวงการนำเข้าส่งออกทั่วโลกอย่างเป็นที่สุด คงหนีไม่พ้นข่าวของ Hanjin สายการเดินเรือสัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลกและใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศเกาหลีใต้ถูกศาลตัดสินล้มละลาย และยื่นขอคำสั่งศาลพิทักษ์ทรัพย์

เมื่อย้อนกลับไปดูความยิ่งใหญ่ในอดีตของ Hanjin แทบไม่น่าเชื่อว่าสายเรือที่เคยมี Volume การขนส่งทางเรือต่อปีมากกว่าปีละ 100 ล้านตัน มีเรือขนส่งคอนเทนเนอร์และเรือ Bulk รวมกันถึง 150 ลำ มีสำนักงานและท่าบริการตู้สินค้าตั้งอยู่แทบทุกมุมของโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพนักงานอยู่ทั่วโลกรวมแล้วถึง 5,000 กว่าชีวิต จะล้มลงอย่างกะทันหัน สืบเนื่องมาจากธนาคาร KDB (Korea Development Bank) ประกาศถอนตัวที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ Hanjin โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มบริษัทแม่ไม่สามารถช่วยเหลือ Hanjin ในการรับมือกับหนี้อันมหาศาลจำนวน 5,000,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐได้อีกต่อไป

ประธานและ CEO ของ Hanjin Shipping ณ ศาลที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2016

กระทรวงมหาสมุทรและการประมงของเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าสินค้าต่างๆของเกาหลีซึ่งถูกขนส่งโดย Hanjin จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยเกิดความล่าช้าในการขนส่งประมาณ 2-3 เดือน และวางแผนที่จะประกาศมาตรการในการรับมือเกี่ยวกับการขนส่งในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการที่ บริษัท Hyundai Merchant Marine สายการเดินเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเกาหลีใต้จะ take over กิจการบางส่วนของ Hanjin ซึ่งยังมีกำไรอยู่และรวมถึงบุคลากรหลักที่สำคัญของ Hanjin อีกด้วย ซึ่งโฆษกของบริษัท Hyundai ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า Hyundai ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะ take over กิจการในบางส่วนของ Hanjin หรือไม่ เนื่องจาก Hyundai เองก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน

มาดูในส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประเทศไทยกันบ้างค่ะ จากประชาชาติธุรกิจ

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีบริษัท HANJIN ว่าที่ผ่านมา Hanjin เป็นสายเรือที่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป หากมีการอายัดทรัพย์สินบริษัท อาจจะกระทบต่อสินค้าที่อยู่ระหว่างส่งมอบลงท่าเรือ หรืออยู่ระหว่างทรานส์ชิปเมนต์ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปได้

ล่าสุดสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯได้ทำหนังสือไปถึงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อขอให้ทูตพาณิชย์ช่วยประสานเรื่องการรับมอบสินค้าจากกรณีของ HANJIN เมื่อสินค้าถูกส่งไปถึงท่าเรือและอาจมีการขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผลกระทบคงมีเพียงบางกลุ่ม เพราะส่วนใหญ่ผู้ส่งออกไทยใช้วิธีการส่งออกและชำระค่าสินค้าแบบ FOB (ผู้ซื้อจัดหาเรือมารับสินค้าที่ต้นทาง สินค้าขึ้นเรือไปแล้วถือว่าผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าไปแล้ว) ในสัดส่วน 50-60% ซึ่งวิธีการนี้ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหาระวางเรือมารับสินค้า แต่จะมีสินค้าบางกลุ่ม เช่น อาหาร ที่มีการส่งสินค้าเป็นแบบ CNF/CIF (ผู้ขายมีหน้าที่จัดหาเรือต้นทางเพื่อขนส่งสินค้าไปปลายทาง) ซึ่งจะกระทบบ้าง

ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น นายนพพรกล่าวว่า อาจจะทำให้จำนวนบริษัทสายการเดินเรือลดลง และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นค่าระวางเรือ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก และสมาคมยังมีความกังวลว่า นอกจากกรณีของ HANJIN แล้วจะมีสายการเดินเรืออื่นๆ ที่ประสบปัญหาขาดทุนคล้ายๆกัน ดังนั้นสภาผู้ส่งฯจะเตรียมการรับมือ โดยอยู่ระหว่างประสานประชุมกับสภาเจ้าของเรือไทย (DHIA) เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า มีผู้ประกอบการเรือไทยขาดทุนหรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกตามมาอีก

ที่มา:

Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
bottom of page