ขยายโครงข่ายคมนาคมเชียงราย หนุนโลจิสติกส์ท่าเรือเชียงแสน ไทย-จีน
คนเหนือ มีเฮ! ปี 61 ได้สัญจรเส้นทางทะลุทะลวง หลังทางหลวงชนบท เติมต่อโครงข่ายคมนาคมเชียงราย กว่า 28 กม. สนับสนุนโลจิสติกส์ ท่าเรือเชียงแสน รองรับการค้าเศรษฐกิจ ไทย-จีน ในอนาคต
วันที่ 25 ก.ค.59 นายพิศักดิ์ จิติวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทาง และท่องเที่ยว ในพื้นที่ภูมิภาค รวมถึงเป็นเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทางหลวงชนบท จึงได้เร่งดำเนินการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 1098-ทางหลวงหมายเลข 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 28.780 กิโลเมตร เพื่อหวังเป็นเส้นทางที่จะสนับสนุนการขนส่งโลจิสติกส์บริเวณท่าเรือเชียงแสน รองรับการค้าร่วมกันระหว่าง ไทย-จีน ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบท สายเชื่อมทางหลวงหมายเลข 1129-ทางหลวงหมายเลข 1098 (ตอนที่ 1) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 14.564 กิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อปี 2557 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง และการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเชียงแสนเข้าสู่เชียงราย เติมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมในการแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนทางหลวงเดิม ระหว่างท่าเรือเชียงแสนกับตัวเมืองเชียงรายให้มีความสะดวกและปลอดภัยแล้ว และมาในปัจจุบัน ทช. จึงจะได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 1098-ทางหลวงหมายเลข 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 28.780 กิโลเมตร ประกอบด้วย การก่อสร้างถนนสายหลัก ระยะทาง 26.011 กิโลเมตร และถนนเชื่อม จ 3 ระยะทาง 2.769 กิโลเมตร ซึ่งก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 28.780 กิโลเมตร พร้อมจุดกลับรถ จำนวน 8 แห่ง และก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำกก จำนวน 2 แห่ง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 1,656 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าในขณะนี้ อยู่ระหว่างการสำรวจแนวทางและระดับ พร้อมกับเก็บรายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง และงานกรุยแนวทาง ถางป่าและขุดตอ คาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์บริเวณท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 เสริมศักยภาพทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการกระจายสินค้าให้กับ Gateway/Hub ทางภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์