ว่ากันด้วยเรื่อง ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ตอนที่ 1
วันนี้ขอมาให้ความรู้ทุกท่านเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้าค่ะ (Product Origin) หลายท่านที่เคยนำเข้าหรือส่งออกสินค้ามาบ้างแล้วอาจจะเคยได้ยินคำว่า "Certificate of Origin (C/O)" หรือ "ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า" กันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ ในธุรกิจนำเข้าส่งออก เราเรียกเอกสารนี้แบบย่อๆว่าใบซีโอ
C/O เป็นหนังสือรับรองที่ออกให้ผู้ส่งออกเพื่อแสดงว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดในประเทศใด และผลิตได้ถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งใบ C/O จะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันดังนี้ค่ะ
1. หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป คือเอกสารที่นำไปใช้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้า แต่ไม่สามารถนำไปขอยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรขาเข้าได้ เรียกว่า Ordinary Certificate of Origin
2. หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ ที่นำไปใช้เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (ขอยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีอากรขาเข้า) เรียกว่า Preferential Certificate of Origin
แล้วใบ C/O 2 ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร?
- Ordinary Certificate of Origin ขอเรียกสั้นๆว่าแบบทั่วไปแล้วกันนะคะ แบบทั่วไปนี้คือเอกสารที่ใช้เพื่อยืนยันกับผู้ซื้อว่า สินค้าที่ส่งออกไปนั้นประกอบด้วยวัตถุดิบภายในประเทศ มีการผลิต หรือผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตภายในประเทศ
- Preferential Certificate of Origin ศัพท์นำเข้าส่งออกเราเรียกเอกสารสิ่งนี้ว่า "ฟอร์ม" ค่ะ ตัวอย่างเช่น FORM E (ฟอร์มอี) ซึ่งเป็น C/O ที่รับรองว่าสินค้าถูกผลิตในประเทศจีน และ FORM E นี้ล่ะค่ะ ที่เราใช้มาขอยกเว้น/ลดหย่อนภาษีอากรขาเข้าจากกรมศุลกากร C/O ที่ใช้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีได้จึงเป็นชนิดพิเศษ
ภาพตัวอย่าง FORM E ค่ะ หน้าตาเป็นแบบนี้นี่เอง
ซึ่งกว่าจะมาเป็น หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ ได้นั้นต้องมีการประชุมเจรจาทางการค้าร่วมกันของแต่ละประเทศ (อาจเป็นการเจรจาทางการค้าเฉพาระหว่าง 2 ประเทศหรือมากกว่า 2 ประเทศก็ได้ค่ะ) มีการศึกษาระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรและกฎถิ่นกำเนิดสินค้า กำหนดคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิดและรูปแบบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
วันนี้ขอนำแบบฟอร์มซึ่งมีการเจรจาและตกลงทางการค้าระหว่างประเทศมาให้ดูกันเป็นความรู้นะคะ
ทุกท่านจะได้ทราบว่าแบบฟอร์มชนิดใดมาจากการทำความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศใดบ้าง
ซึ่งแบบฟอร์มเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีต่อกรมศุลกากรประเทศไทยได้ด้วยค่ะ
อัตราการลดหย่อน/ละเว้นภาษีอากรในการนำเข้านี้จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งชนิดของสินค้าด้วยค่ะ
ตัวอย่างเช่น นายชีฟเคยนำเข้าสินค้า A มาจากประเทศจีนโดยไม่มี FORM E เคยเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 30%
มาวันหนึ่งนายชีฟเปลี่ยนไปใช้ผู้ผลิตในจีนที่ได้รับสิทธิ์รับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เมื่อนายชีฟนำเข้าสินค้าล็อตใหม่
พร้อมยื่นเอกสาร C/O ต่อกรมศุลกากรในขั้นตอนพิธีการศุลกากร จากที่เคยเสียภาษีนำเข้าที่ 30%
อาจได้รับสิทธิ์ยกเว้นอากรเหลือ 0% ก็ได้ค่ะ
จากบทความนี้ ขอสรุปสิ่งที่ผู้นำเข้าควรทำดังนี้นะคะ
1. ผู้นำเข้าควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในพิธีการศุลกากร (บริษัทชิปปิ้ง) เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่ท่านจะนำเข้าได้รับสิทธิพิเศษในการขอใช้ฟอร์มยกเว้น/ลดหย่อนภาษีหรือไม่ ในกรณีที่สินค้าประเภทนั้นๆได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ผู้นำเข้าควรให้บริษัทชิปปิ้งตรวจสอบและเช็คพิกัดอัตราอากรของสินค้าประเภทนั้นๆ จะได้ทราบอัตราอากรนำเข้าเบื้องต้นหากไม่มีฟอร์มยกเว้น/ลดหย่อนภาษี และหากมีฟอร์มยกเว้น/ลดหย่อนภาษี
2. ผู้นำเข้าควรสรรหาผู้ผลิตในต่างประเทศที่ได้รับสิทธิ์รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อจะได้นำแบบฟอร์มนั้นๆมาใช้ในการละเว้น/ลดหย่อนภาษี ในการนำเข้ามาในประเทศไทยค่ะ
3. ผู้นำเข้าควรทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และใบ C/O ซึ่งมีทั้งแบบ WO และ ST
หลายท่านอาจจะมีคำถามหลังจากอ่านผ่านข้อ 3 มาเมื่อสักครู่ว่า WO และ ST คืออะไรใช่ไหมคะ
ขออนุญาตเก็บหัวข้อนี้ไว้ต่อตอนที่ 2 ในบล็อคหน้าแล้วกันนะคะ ถ้าจบวันนี้ทั้งหมดกลัวว่าจะยาวเกินไปค่ะ
ไว้มาพบกันใหม่ตอนหน้านะคะ
สวัสดีค่ะ
ปาณิสรา